การดีลกับผี ทั้งผีดี ผีร้าย โดย การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/ho/0/ud/43/219793/horo-new013.jpgการดีลกับผี ทั้งผีดี ผีร้าย โดย การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์

    การดีลกับผี ทั้งผีดี ผีร้าย โดย การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์

    2021-12-07T15:30:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    ว่าด้วยการดีลกับผี และการไล่ผี ในอดีตที่ผ่านมานั้น ความที่พ่อเป็น “ปู่จารย์” หรืออาจารย์ในสายพิธีกรรม จึงมีประสบการณ์เกี่ยวกับการต้องไป “ไล่ผี” อยู่หลายครั้ง

    อันที่จริงแล้ว ในการ “ดีลกับผี” นั้น ที่บ้านเราคุ้นเคยมากที่สุด ก็คือการไปส่งผี และเลี้ยงผี

    สำหรับทางเหนือล้านนา ในสังคมที่มีผีเป็นใหญ่ ในหลายๆ ครั้ง เมื่อมีใครเจ็บป่วยไม่สบาย มีเรื่องอุบัติเหตุเภทภัย ก็อาจจะตั้งสันนิษฐานกันว่าอาจเกิดจาก “ผีทำ” ได้ โดยจะรู้เมื่อไป “ถามเมื่อ-ถามหมอ” คือการไปให้ “หมอเมื่อ” (คำเรียกหมอดูสายร่างทรง) ช่วยตรวจดูให้

    สิ่งที่น่าแปลกก็คือ หลายครั้ง เมื่อมีร่างทรงทักว่า เกิดจากผีตัวนั้นตัวนี้ ตรงนั้นตรงนี้ ก็มักจะตรงกับพิกัดสถานที่จริง เป็นจุดที่มีคนตายจริง ซึ่งคนทางบ้านนั้นก็จะนิยมไปถาม “หมอเมื่อ” นอกตำบล หรืออย่างน้อยก็ในหมู่บ้านอื่น เพื่อจะได้พิสูจน์กันง่ายขึ้นว่าที่หมอเมื่อทักมานั้น ตรงกับเรื่องราวจริงเพียงใด ไม่ได้ลักไก่เอาข้อมูลเดิมมาพูด

    และเมื่อรู้แล้วว่า ผีตนที่ทำนั้นเป็นใคร เขาบอกมาว่าอยากได้อะไร แถบแถวที่เราอยู่ ผู้คนก็จะมาหาพ่อ ขอให้พ่อไปเลี้ยงผี-ส่งผีให้

    ในการไปส่งผี-เลี้ยงผี ก็จะประกอบด้วยสะตวงใส่เครื่องพิธีกรรม มีข้าวปลาอาหาร ของหวานของคาว ข้าวตอกดอกไม้ ที่เรียบง่ายสุดก็คือไก่ต้ม และเหล้า แต่ถ้าผีบางตนบอกมาเป็นพิเศษว่าอยากจะกินอาหารพิเศษ ญาติผู้ป่วยก็จะจัดเตรียมให้

    ตอนเด็กๆ ฉันเคยไปส่งผีกับพ่ออยู่หลายครั้ง บางครั้งจะเป็นการไปเลี้ยงผีในที่เปลี่ยว เป็นจุดที่เคยมีคนเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ (ตายโหงนานาประการ) การนั่งรอพ่อโอมอ่านคาถา บอกกล่าวตามลำดับขั้นตอน จนกระทั่งนั่งรอให้เทียนหมดเล่ม เป็นการบอกให้รู้ว่าผีมากินอาหาร อิ่มดีแล้ว ก็จะลาเอาของกลับกัน

    สำหรับทางเหนือนั้น ไก่ต้ม และเหล้าสำหรับเลี้ยงผี เมื่อเสร็จแล้วเป็นสิ่งที่เอากลับมากินต่อได้ ต่างจากของเซ่นไหว้อื่นๆ คิดดูแล้วก็ใกล้เคียงของไหว้บรรพบุรุษ ที่พอลา ก็เอามาเป็นอาหารกินร่วมกัน หรือแจกจ่ายแบ่งกันในกลุ่มญาติ

    ตอนยังเด็ก ฉันจึงเบื่อหน่าย “ยำจิ๊นไก่” มากกว่าอะไรอื่น เพราะมันเป็นของสามัญประจำบ้านเลยก็ว่าได้ เมื่อพ่อจะได้ไก่ต้มกลับมาเสมอ แทบจะเป็นรายอาทิตย์ รายวัน และน่าแปลกอีกอย่างว่า ไก่ต้มเลี้ยงผีนั้นมันจะจืดชืดกว่าปกติจริงๆ จะว่าเพราะการต้มแล้วตั้งทิ้งไว้ก็ไม่ใช่

    พ่ออธิบายว่า มันเป็นภาวะที่รสชาติถูกดูดกลืนไปเป็นบางส่วน

    ฉันเคยถามพ่อว่า แล้วเรากินของหลังผีได้ด้วยหรือ

    พ่อบอกว่า ถ้าเป็นของที่อยู่ในสะตวง ชุดส่งผี ของที่จัดเป็นข้าวคำน้ำคำ แบบนั้นกินไม่ได้ แต่ถ้าเป็นอาหารเลี้ยงผี ที่เป็นสัญลักษณ์ของการส่งมอบเพื่อแสดงความตั้งใจว่าขอให้ตกลงกันด้วยดี ได้เอาข้าวปลาอาหารมามอบให้แล้วตามที่ร้องขอ ถือว่าพบกันคนละครึ่งทาง แบบนั้นเราเอามากินต่อได้ เพราะคนกับผีกินกันคนละมิติ

    ผีกินผ่านอวายควันธูปเทียน กินผ่านอากาศ กินรสชาติโดยไม่ได้จับต้องตัวไก่

    แต่คนกินเนื้อหนังมังสาของไก่ เคี้ยวกินเอาไก่ผ่านเข้าไปในร่างกายของเราได้จริงๆ แต่เราสามารถถือได้ว่า เป็นการแบ่งกันกิน กินอาหารร่วมกัน แต่เราให้เกียรติผีนั้นกินก่อน

    มุมมองนี้ของพ่อ เป็นสิ่งที่ยอมรับว่าแทบจะคาดไม่ถึง เพราะไม่เคยได้ยินคำอธิบายแบบนี้จากที่ใด มาคิดย้อนหลังว่า ดูเหมือนว่าตัวพ่อจะปฏิบัติกับผี เหมือนสิ่งที่มีชีวิต และตัวตนจริงๆ เพียงแต่อยู่คนละมิติกับเราเท่านั้น

    การให้เกียรติผี เป็นสิ่งที่ฉันเองจดจำไว้ตลอดมา

    ในเวลาอีกนานต่อมา คือในปัจจุบัน ฉันก็อดคิดต่อไม่ได้ว่า ฉันชอบมุมมองแบบนี้ของพ่อ

    เพราะการที่คนให้เกียรติผี สื่อสารกับผี ดีลกับผี ไม่ได้เป็นลักษณะบนลงล่าง หรือมีความเป็นเจ้าเป็นนายอย่างเหลื่อมล้ำ ยิ่งเมื่อคิดถึงว่า ก่อนจะไปเป็นผี เขาก็อาจจะเคยเป็นคนอย่างเราๆ เขาก็เคยมีชีวิตจิตใจ

    พ่อบอกว่า ในสถานะของผี ก็ยังเป็นดวงจิตวิญญาณที่ติดข้องในโลกีย์วิสัยเช่นมนุษย์ปุถุชน ผีจึงยังมีอุปนิสัยใจคอ พฤติกรรม ความรู้สึกนึกคิด ที่ถอดแบบออกไปจากตัวตนในโลกเดิม เคยเป็นคนนิสัยอย่างไร เมื่อตายไปเป็นผี และยังไม่ได้ไปเกิดใหม่ ยังไม่ได้ไปสู่ภพภูมิที่สูงขึ้นไป ยังวนเวียนอยู่ในโลกเก่าๆ แม้ร่างกายสูญสลาย ผีตนนั้นก็จะยังมีนิสัยคงเดิม

    สิ่งสำคัญในการดีลกับผี จึงเป็นการต้องทำความรู้จักผี และพิจารณาว่าจะต้องใช้การสื่อสารแบบใด จะใช้ไม้อ่อนไม้แข็ง หรืออุปกรณ์ตัวช่วยแบบไหน

    ผีที่นิสัยร้ายๆ เป็นผีพาล เป็นผีที่ไม่ยอมญาติดีกับเรา เอาแต่จะสร้างความเดือดร้อนให้คนตามอำเภอใจ ก็อาจจำเป็นต้องใช้ของกำราบ

    พ่อเล่าให้ฟังว่า แต่มีอยู่ครั้งหนึ่ง ที่พ่อก็เคยพ่ายแพ้ผีอยู่เหมือนกัน

    ฉันออกจะแปลกใจมาก เพราะคาดไม่ถึงว่า คนอย่างพ่อจะเจอผีที่สู้ไม่ได้

    พ่อบอกว่า ก็บอกแล้วไงว่าผีก็เหมือนคน มีผีดี ผีร้าย ผีที่พูดกันไม่รู้เรื่อง และเราก็ต้องประเมินกำลังตนเองด้วย

    เหตุการณ์ครั้งนั้นมีอยู่ว่า มีหนหนึ่ง บ้านหลังหนึ่งมีคนในบ้านป่วยกระเสาะกระแสะอยู่หลายเดือน ไปถาม “หมอเมื่อ” หลายแห่ง ก็ล้วนแต่บอกตรงกันว่ามีผีกุม

    และคนในบ้านก็สังเกตว่าผู้ป่วยมักจะชอบอยู่ในห้องมืดๆ ทึมๆ กลางวันนอนแซ่วป่วยไข้ ตกกลางคืนจะลุกมาหาของกิน ชอบกินสดของคาว พอเอาไปโรงพยาบาลก็ตรวจไม่พบความผิดปกติ แต่อยู่ไปๆ ร่างกายก็ดูจะร่วงโรยลงเรื่อยๆ เนื้อตัวเหม็นอับสาบสาง สภาพเริ่มดูเป็นซากผีเข้าจริงๆ

    ฟังดูคล้ายกับปอบทางอีสาน แต่ทางเหนือเรียกกันว่า ผีพรายเข้าสิง

    พ่อเล่าให้ฟังอีกว่า เมื่อครอบครัวนั้นมาติดต่อขอให้ไปดู พ่อก็เลยไปดูให้

    แต่วันที่พ่อไปดูนั้น เป็นวันที่พ่อกำลังกินดื่มอยู่กับเพื่อนฝูง พอเขามาขอก็นึกสนุกว่า จะไปดูให้เลยดีกว่า แล้วก็เลยไปทั้งกรึ่มๆ

    ถึงบ้านนั้น พ่อว่าก็เป็นบรรยากาศมืดๆ ทึมๆ แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก และใจพ่อยังคิดว่า อาจจะไม่ใช่ผีสิงก็ได้ เพราะบางครั้งก็ได้เจอว่าบางคนก็กังวลเรื่องผีมากไป อะไรๆ ก็ผี ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องก็มี

    แต่ปรากฏว่า พอพ่อย่างเข้าไปในห้องนอนที่ค่อนข้างมืด ด้วยปิดหน้าต่างไว้หมดทุกบาน พอเจ้าของบ้านจะเปิด คนในห้องก็ไม่ให้เปิด แล้วยังตวาดไล่ออกไป

    แต่คนที่นอนอยู่บนสะลี ผุดลุกขึ้นนั่ง แล้วจ้องพ่อเขม็ง พูดว่า “มาแล้วรึ!”

    พ่อว่า ตั้งแต่ไปไล่ผีมา ก็ไม่เคยเแบบนั้นมาก่อน พ่อจึงตั้งสมาธิว่าคาถา แต่ยังว่าไม่จบ คนบนฟูกนอนก็หัวเราะเข้าใส่ และพอพ่อหลับตาบริกรรมอีก ก็ได้ยินเสียงหัวเราะดังกว่าเดิม แล้วทันทีทันใด ร่างนั้นก็กระโจนเข้าใส่พ่อ

    มันเป็นเรื่องน่าตลก ถ้าเราคิดภาพเหมือนหนังผีไทย พ่อเองเล่าอย่างขบขันตัวเอง เพราะเล่าให้ใครฟังก็มีแต่คนหัวเราะทั้งสิ้น

    “แต่ตอนนั้นไม่ขำนะ” พ่อว่า “มันตกใจมากกว่า อยู่ๆ มันก็พุ่งเข้ามา กางมือออกอย่างนี้เลย”

    พ่อทำไม้ทำมือให้ดู

    “ทำท่าจะบีบคอพ่อ”

    “แล้วพ่อทำยังไง” ฉันถาม

    “ก็วิ่งออกประตูเลยนะสิ” พ่อตอบ

    เรื่องนี้เป็นเกร็ดตลกที่พ่อเองเล่าให้คนฟังบ่อยๆ ว่าปู่จารย์ก็เคยตกใจผี แต่ครั้งนั้น เป็นตอนที่พ่อเองยังอายุสัก 30 กว่า แม้จะมีวิชาอาคมที่ร่ำเรียนมา แต่ก็ยังเป็นคนห่ามๆ และถือดีอยู่มาก จนเจอดีเอาอย่างนั้น

    “งั้นก็ไล่ผีได้ไม่สำเร็จนะสิ” ฉันถามต่อ

    “สำเร็จ”

    “อ้าว ทำยังไง”

    “พ่อกลับไปใหม่วันรุ่งขึ้น คราวนี้เตรียมตัวไปอย่างดี เอาข้าวของไป แล้วไปนั่งสู้หน้ามันเลย”

    ในการไปสู้กับผีทั้งที่สอง พ่อเล่าว่า เมื่อเตรียมตัวไปดีแล้ว ไม่ได้ไปจากวงเหล้า สมาธิพ่อก็ดีขึ้น สติความรู้ตัวมากขึ้น

    เมื่อพ่อไปถึงก็เข้าไปในห้อง วางข้าวของตามพิธีกรรม แล้วว่าคาถาฉับๆ ใส่เลย พอคนบนฟูกนอนผุดลุกนั่ง พ่อก็จ้องตาสู้ พออีกฝ่ายขยับ พ่อก็เงื้อหวายรอ หลังจากนั้นก็เป็นการพูดจากับผี ขอให้ไปเสียดีๆ อยากได้อะไรจะหาให้ แต่ไปแล้วให้ไปลับ อย่าได้กลับมาสร้างความเดือดร้อนแก่คนเขา

    แล้วเรื่องราวก็ผ่านไป ญาติพี่น้องในครอบครัวนั้นแจ้งว่า ผู้ป่วยค่อยๆ คืนกลับมาเป็นปกติ ฟื้นตัวมากินข้าวกินน้ำ ร่างกายค่อยๆ อ้วนท้วนสมบูรณ์ดี ทำให้พวกเขามีความเชื่อถือในตัวพ่อมาก ทุกวันสำคัญทางประเพณี เช่น  ปีใหม่เมืองจะต้องมาหา มารดน้ำดำหัวพ่อ

    พ่อเคยพูดไว้ว่า การดีลกับผีเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง มันคือการสื่อสารเจรจา การต่อรอง และการหาจุดลงเอยที่ดีต่อทุกฝ่าย

    เมื่อเราให้เกียรติผีแล้ว ผีก็ควรให้เกียรติเราบ้าง พูดกันดีๆ อย่างมีอารยธรรมร่วมกัน

    ที่บ้านเรานั้น พ่อจึงไม่นิยมเรื่องการ “เลี้ยงผีไว้ใช้” แต่ก็เปิดโอกาสให้ “ผีมาอยู่ด้วย” ดังจะได้เล่าอีกในครั้งต่อๆ ไป