เปิดประวัติ "พระปางนาคปรก" วัตถุมงคลที่ "เสก โลโซ" นับถือบูชา

เปิดประวัติ "พระปางนาคปรก" วัตถุมงคลที่ "เสก โลโซ" นับถือบูชา

เปิดประวัติ "พระปางนาคปรก" วัตถุมงคลที่ "เสก โลโซ" นับถือบูชา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากที่ร็อกเกอร์คนดัง "เสกสรรค์ ศุขพิมาย หรือ เสก โลโซ" โดนจับกุมเนื่องจากยิงปืนขึ้นฟ้า ซึ่งมีการเผยภาพระหว่างเข้าจับกุมตัวถึงบ้านพัก และทางเจ้าหน้าที่พบว่าเสกได้มี การวางวัตถุมงคลเป็น พระพุทธรูปปรางนาคปรก ไว้บนเตียง ซึ่งมีสุนัขพันธุ์ปั๊กอยู่ด้านข้าง พร้อมกับบอกให้ พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผบช.น. ดูว่า “พระพุทธรูปดังกล่าวคือ เพชร ผมทำให้เป็นเพชรขึ้นมา”

 

จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบพระพุทธดังกล่าวแล้วพบว่า เป็นเพียงพระพุทธรูปที่เป็นวัตถุมงคลเท่านั้น ไม่ใช่เพชรตามที่ เสก โลโซ เรียกให้ดูแต่อย่างใด พร้อมกับพบวัตถุมงคลอยู่ที่บนโซฟาภายในห้องบ้านนอนของเสกอย่างมากมาย ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วร็อกเกอร์คนดังก็มีความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสิ่งลี้ลับว่ามีจริง

ล่าสุดเสกได้โพสต์ข้อความในแฟนเพจส่วนตัวว่า ....{ว่าด้วยเรื่องพระนาคปรก} จะพิสูจน์ไหมจ๊ะว่าพระสรรค์เพชรของเฮียมีเพชรจริงๆ พรุ่งนี้เชิญนักข่าวที่บ้านได้เลย ส่วนเรื่องที่เจ้าแฮร์ร็อดไปนั่งตรงนั้น เพราะพอประตูพังคนก็กรูกันเข้ามา เฮียโดนล็อกตัว แล้วแฮร์ร็อดก็เลยไปรู้ว่าจะไปอยู่ตรงไหน? ปล.ถ้าเฮียพิสูจน์ว่าพระนาคปรกเฮียมีเพชรจริงๆ ให้หยุดเขียนข่าวเสียๆหายๆของเฮียตลอดไป โอเคเปล่า?

จากนั้นได้ไลฟ์ให้ชมพระนาคปรก ว่าเมื่อองค์พระกระทบกับแสงจะมีประกายคล้ายเพชรออกมาระยิบระยับสวยงาม ซึ่งสร้างความฮือฮาจากผู้คนในกระแสโซเชียลและบรรดาแฟนคลับของ เสก โลโซ เองด้วยความเห็นที่แตกต่างกันไป

Sanook! horoscope จึงนำประวัติความเป็นมาแลพระคาถาบูชามาให้ทุกท่านได้ทราบกันค่ะ "นาคปรก" เป็นชื่อเรียกพระพุทธรูปลักษณะนั่งสมาธิ และมีพญานาคแผ่หัวเป็นพังพานขึ้นจากไหล่ไปปรกพระเศียรของพระพุทธรูป แต่เดิมทำเป็นรูปพญานาคเป็นมนุษย์ มีรูปงู 7 หัวเป็นพังพานขึ้นจากไหล่ไปปรกพระเศียร (ศีรษะ) ในกิริยาที่พญานาคทำท่านมัสการพระพุทธเจ้า ต่อมาภายหลังทำพญานาคเป็นรูปงูขดตัวเป็นฐานตั้งพระพุทธรูปนั่งสมาธิบนตัวพญานาค และมีพังพานและหัวของพญานาค 7 เศียรปรกอยู่ พระนาคปรกนี้มี 2 แบบ คือ แบบหนึ่งประทับนั่งสมาธิบนขนดพญานาค แบบหนึ่งประทับนั่งสมาธิภายในวงขนดพญานาค คือพญานาคขดตัวล้อมพระกายไว้ถึงพระอังสา เพื่อป้องกันลมฝนตามตำนาน

ประวัติความสำคัญ

ครั้นพระพุทธองค์เสด็จประทับเสวยวิมุตติสุข ณ ร่มไม้อชปาลนิโครธสิ้น 7 วัน แล้วพระองค์ก็เสด็จไปประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขยังร่มไม้จิก อันมีชื่อว่า มุจจลินท์ ซึ่งตั้งอยู่ด้านทิศอาคเนย์ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ วันนั้นเกิดฝนตกพรำอยู่ไม่ขาดสายตลอด ๗ วัน พญานาคมุจจลินท์ ผู้เป็นราชาแห่งนาค ได้ออกจากนาคพิภพ ทำขนดล้อมพระวรกาย ๗ ชั้น แล้วแผ่พังพานใหญ่ปกคลุมเบื้องบน เหมือนกั้นเศวตฉัตรถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยความประสงค์มิให้ฝนและลมหนาวสาดต้องพระวรกาย ทั้งป้องกันเหลือบ ยุง บุ้ง ร่าน ริ้น และสัตว์เลื้อยคลานทั้งมวลด้วย

ครั้งฝนหายแล้ว พญามุจจลินท์นาคราชจึงคลายขนดจากที่ล้อมพระวรกายพระพุทธเจ้า จำแลงเพศเป็นมาณพน้อยยืนทำอัญชลีถวายนมัสการพระพุทธองค์ในที่เฉพาะพระพักตร์ ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานว่า "สุโข วิเวโก ตุฏฺฐัสสะ สุตะธัมมัสสะ ปัสสะโต อัพยาปัชชัง สุขัง โลเก ปาณะภูเตสู สัญญะโม สุขา วิราคะตา โลเก กามานัง สะมะติกฺกะโม อัสมิมานัสสะ วินะโย เอตัง เว ปะระมัง สุขัง ฯ" ความว่า "ความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้มีธรรมอันได้สดับแล้ว รู้เห็นสังขารทั้งปวงตามเป็นจริงอย่างไร ความเป็นคนไม่เบียดเบียน คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และความเป็นคนปราศจากความกำหนัด คือความก้าวล่วงกามทั้งปวงเสียได้ เป็นสุขในโลกความนำออกเสียซึ่งอัสมินมานะ คือความถือตัวตนให้หมดได้นี้เป็นสุขอย่างยิ่ง"

พระพุทธจริยาที่เสด็จประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขภายในวงขนดของพญานาคมุจจลินท์นาคราชที่ขดแวดล้อมพระกายอยู่นี้ เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้นมา เรียกว่า ปางนาคปรก เรื่องพระปางนาคปรกนี้ นิยมสร้างเป็นพระนั่งบนขนดตัวพญานาคเหมือนเอานาคเป็นบัลลังก์ดูสง่า องอาจเป็นพระเกียรติอำนาจของพระองค์อย่างหนึ่ง ได้ลักษณะเป็นอย่างพระเจ้าของพราหมณ์ ถ้าจะรักษาลักษณะของพระพุทธรูปตามประวัติ ก็จะเป็นไปอีกในลักษณะหนึ่งคือ พระพุทธรูปจะมีพญานาคพันรอบพระวรกายด้วยขนดตัวพญานาคถึง 4-5 ชิ้น จนบังพระวรกายมิดชิด เพื่อป้องกันฝนและลม จะเห็นได้ก็เพียงพระเศียร พระศอ และพระอังสาเป็นอย่างมาก ทั้งเบื้องบนก็มีหัวพญานาคแผ่พังพานปกคลุมอีกด้วย

 

ความเชื่อ

พระพุทธรูปปางนาคปรกนี้นิยมสร้างเป็น พระพุทธรูปที่สักการบูชาประจำวันของคนเกิดวันเสาร์ ในพุทธศาสนาเป็นที่ทราบกันว่ามีความนิยมสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรก อันเกี่ยวเนื่องกับพญานาคที่ชื่อ “มุจลินท์” ซึ่งมาแผ่พังพานปกป้องพระพุทธองค์ และกลายเป็นพระประจำวันเสาร์ นอกเหนือไปจากเรื่องพญานาคเลื่อมใสในพุทธศาสนาถึงขนาดปลอมตนมาขอบวชจนเรียกว่า “บวชนาค” มาจนถึงปัจจุบันนี้ 

พระนาคปรกเปรียบเสมือนพญานาคได้แผ่พังพาน ปกป้องคุ้มครองเจ้าชะตาให้พ้นทุกข์และภัยพิบัติต่างๆ และยังมีความเชื่อว่าพระปางนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ทางเมตตา ซึ่งเป็นการสอนทางอ้อมให้เห็นอานิสงค์หรือผลดีของความเมตตา เพราะแม้แต่พญานาคยังขึ้นจากสระน้ำมาถวายอารักขาพระพุทธเจ้า ทั้งนี้ก็ด้วยพลานุภาพแห่งพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ การบูชา พระนาคปรก เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ต่ออายุ เสริมดวงชะตา เมตตามหานิยม ทรัพย์ มหาอำนาจ ดีทุกด้านแก่ผู้บูชา การนำพระนาคปรก หรือ พระประจำวันเกิด บูชานั้นควรไว้ที่หัวนอนของตัวเองจะดีที่สุด องค์พระจะคุ้มครองคุ้มภัยอันตรายทั้งหลาย เสมือนว่าท่านได้คุ้มครองอยู่ตลอดเวลา

 

พระคาถาบูชา

สวด 10 จบ (องคุลีมาลปริตร) ดังนี้ "ยะโตหัง ภะคินิ อะริยายะ ชาติยา ชาโต นาภิ ชานามิ สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตา เตนะ สัจเจนะ โสตถิ เต โหตุ โสตถิ คัพภัสสะ" มีบางความเชื่อ เชื่อว่าที่มาของพระพุทธรูปปางนี้ เป็นการผสมผสานความเชื่อของสองศาสนา คือ ศาสนาพุทธ และศาสนาฮินดู โดยมีที่มาจากพระวิษณุหรือพระนารายณ์ ขณะที่บรรทมประทับบนอาสน์พญานาคที่สะดือสมุทร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook