สุดยิ่งใหญ่ตระการตา สัตว์หิมพานต์ประดับ "พระเมรุมาศ ร.๙”

สุดยิ่งใหญ่ตระการตา สัตว์หิมพานต์ประดับ "พระเมรุมาศ ร.๙”

สุดยิ่งใหญ่ตระการตา สัตว์หิมพานต์ประดับ "พระเมรุมาศ ร.๙”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร  ได้ถูกจัดสร้างขึ้นอย่างสง่างามสมพระเกียรติและตราตรึงใจ “พระเมรุมาศ” ยิ่งใหญ่รโหฐาน โดยผู้รอบรู้ด้านศิลปกรรมของชาติจากแขนงต่างๆ ได้ร่วมกันถ่ายทอดวิชาความรู้ผ่านงานออกแบบรูปลักษณ์ ก่อสร้างอาคาร ประดิษฐ์ตกแต่ง คิดลวดลาย เนรมิตพระเมรุมาศดุจสรวงสรรค์ โดยการสร้างพระเมรุมาศ

ตามคติความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุพิมานสถานของเหล่าเทวา พระอินทร์ และผู้มีบุญที่ล่วงลับ ด้วยคตินี้คนไทยจึงเรียกที่เผาศพว่าเมรุ เพื่อสื่อนัยว่าเมื่อนำศพตั้งบนเมรุแล้ว ผู้วายชนม์เสมือนได้อยู่บนเขาพระสุเมรุหรือสรวงสวรรค์ ราชประเพณีสืบต่อกันมาช้านาน ด้วยความเชื่อเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทวราชดังกล่าว

อาณาบริเวณเขาพระสุเมรุเต็มไปด้วยพืชพันธุ์ไม้สวยงาม แปลกตา และสัตว์ป่าหิมพานต์ สัตว์ป่าหิมพานต์ที่ปรากฏอยู่ในไตรภูมิพระร่วง อาทิ พระญาหงส์ธตรฐราชเป็นพระญาหงส์ทอง, พระญาช้างอันชื่อพระญาฉัททันต์ นอกจากนี้ยังมี กินรี มังกร ปลาและสัตว์อีกหลายชนิด แต่ละชนิดล้วนแล้วแต่แปลกประหลาดงามตา

ด้วยความเชื่อเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทวราชดังกล่าว เมื่อเสด็จสวรรคตจึงจัดสร้างพระเมรุ โดยมุ่งหมายให้เขาพระสุเมรุมีเขาสัตตบริภัณฑ์รายล้อม ซึ่งดาษดื่นด้วยสิงสาราสัตว์นานาพันธุ์ ในอดีตมีการผูกหุ่นรูปสัตว์เข้าขบวนแห่พระบรมศพและพระศพไปสู่พระเมรุ และจัดทำโรงรูปสัตว์รายรอบพระเมรุมาศและพระเมรุ เป็นต้น ซึ่งสัตว์หิมพานต์จากสระอโนดาต ในพระเมรุมาศประดับไปด้วยสัตว์นานาพันธุ์ตั้งบนโขดหินเทียมในสระอโนดาตรอบพระเมรุมาศ

สัตว์มงคลประจำ 4 ทิศ

ตั้งอยู่บนลานอุตราวรรต บนแท่นรูปหัวสัตว์มงคลที่กำลังพ่นน้ำลงสู่สระอโนดาตเบื้องล่าง ข้างบันไดนาค 1 เศียร ทั้ง 4 ทิศ ที่ขึ้นสู่ฐานชาลาชั้นที่ 1 ของพระเมรุมาศ ทิศละ 1 คู่ เปรียบดั่งทางขึ้นเขาพระสุเมรุที่ล้อมรอบด้วยป่าหิมพานต์ และมีสัตว์หิมพานต์มากมาย ซึ่งอาศัยอยู่รอบสระอโนดาตทั้ง 4 ทิศ แต่ละทิศก็จะมีสัตว์หิมพานต์แต่ละประเภทอาศัยอยู่ ดังนี้

ทิศเหนือ : ช้าง อาศัยอยู่ปากแม่น้ำหัตถีมุข อันเป็นถิ่นที่ช้างอาศัยอยู่จำนวนมาก

ทิศใต้ : โค อาศัยอยู่ปากแม่น้ำอุสภมุข อันเป็นถิ่นที่โคอาศัยอยู่จำนวนมาก

ทิศตะวันออก : ราชสีห์ อาศัยอยู่ปากแม่น้ำสีหมุข อันเป็นถิ่นที่ราชสีห์อาศัยอยู่จำนวนมาก

ทิศตะวันตก : ม้า อาศัยอยู่ปากแม่น้ำอัสสมุข อันเป็นถิ่นที่ม้าอาศัยอยู่จำนวนมาก


ล้อมรอบด้วยเขาบริวาร เรียกว่าสัตบริภัณฑ์ทั้ง 7 ทิว สลับด้วยแผ่นดินแผ่นน้ำสีทันดรล้อมรอบไว้ดุจกำแพงแก้ว


ราวบันไดนาคประดับพระเมรุมาศ

ตามความเชื่อในคติพุทธนั้น พญานาคถือเป็นสัญลักษณ์ของสายน้ำ และเสมือนสะพานสายรุ้งที่เชื่อมโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ โดยภพภูมิของพญานาคคือเทพกึ่งสัตว์ เหตุนี้จึงเป็นที่มาของประติมากรรมราวบันไดนาคประดับพระเมรุมาศ ซึ่งประติมากรรมบันไดนาคทั้ง 4 แบบ จะมีลักษณะแตกต่างกันตามความสำคัญ และระดับชั้นบารมี

นาคปุโรหิต - มีลักษณะพิเศษ คือ นาค 1 เศียร มีลิ้น 2 แฉก นาคจะมีสีสันสดใสที่สะท้อนให้เห็นถึงกิเลสที่ยังมีอยู่ในตัวนาค ตั้งอยู่ที่ฐานชาลาที่ 1 โดยมีต้นแบบนาคมาจากเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

มกรนาคา - มีลักษณะพิเศษ คือ นาค 3 เศียร เขามังกร 1คู่ ลิ้นไม่มีแฉก โดยมีการผสมระหว่างนาคและมังกร ตั้งอยู่ที่ฐานชาลาที่ 2ซึ่งมีต้นแบบมาจากประติมากรรมนาค พบที่เตาแม่น้ำน้อย วัดพระปรางค์ จ.สิงห์บุรี

วาสุกรีนาคราช - มีลักษณะพิเศษ คือ นาค 5 เศียร สวมมงกุฎยอดชัย ประดับด้วยเลื่อมสีเงินบนกายสีทองของตัวนาค สะท้อนให้เห็นถึงการละกิเลสในระดับที่สูงขึ้น โดยจะตั้งอยู่ที่ฐานชาลาที่ 3 ซึ่งมีต้นแบบมาจากราวบันไดวัดพระพุทธบาท จ.สระบุรี

อนันตนาคราช - มีลักษณะพิเศษ คือ เศียรทั้ง 7 เป็นหน้าเทวดา ประดับเลื่อมสีทอง ซึ่งเป็นสีเดียวกับกายนาค สื่อถึงการละกิเลสสู่ความเป็นเทพ เนื่องจากเป็นราวบันไดที่เชื่อมสู่บุษบกองค์ประธาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระบรมโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ซึ่งเปรียบดั่งพระนารายณ์ตามความเชื่อกษัตริย์เป็นสมมตเทพ ราวบันไดนาคในชั้นนี้จึงแสดงถึงความเป็นเทพมากกว่าชั้นชาลาอื่นๆ โดยมีต้นแบบมาจากประสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยการจัดสร้างสัตว์หิมพานต์ครั้งนี้ ดำเนินการโดยคณะช่างปั้นปูนสดอาสาสมัครจังหวัดเพชรบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง ทั้งหมดอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร

ด้วยเหตุนี้ การสร้างพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ คือ การแสดงความเคารพอย่างสูงสุดที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่ทรงถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ซึ่งเป็นโบราณราชประเพณีที่ทำสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ยังเป็นการประกาศความมั่นคงของบ้านเมือง ด้วยเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแผ่นดินใหม่ โดยแสดงพระบรมเดชานุภาพให้เห็นว่า จะทรงปกครองแผ่นดินให้ผาสุกร่มเย็น ภายหลังจากการถวายพระเพลิงแล้วชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ ของพระเมรุที่ถูกรื้อถอนบางส่วนจะนำไปถวายวัด เพื่อเป็นการกุศลแด่ผู้วายชนม์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook