พระอรหันต์ "หลวงปู่ฝั้น อาจาโร" แห่งวัดป่าอุดมสมพร

พระอรหันต์ "หลวงปู่ฝั้น อาจาโร" แห่งวัดป่าอุดมสมพร

พระอรหันต์ "หลวงปู่ฝั้น อาจาโร" แห่งวัดป่าอุดมสมพร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 ปีกุน ตรงกับวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2442 ที่บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เป็นบุตรคนที่ 5 ของเจ้าไชยกุมาร (เม้า) ในตระกูล "สุวรรณรงค์" อดีตเจ้าเมือง พรรณานิคม มารดาของท่านชื่อ นางนุ้ย พระอาจารย์ฝั้น ครั้งวัยเยาว์ มีความประพฤติเรียบร้อย นิสัยโอบอ้อมอารี ขยันหมั่นเพียร อดทนต่ออุปสรรค ช่วยเหลือกิจการงานของบิดา มารดา โดยไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก

ครั้น อายุได้ 20 ปี ท่านได้อุปสมบท เป็นพระภิกษุ ณ วัดสิทธิบังคม ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยมีพระครูป้อง เป็นอุปัชฌาย์ และเป็นผู้สอน การเจริญกรรมฐาน ตลอดพรรษาแรก ออกพรรษาแล้ว ท่านกลับมาพำนัก ที่วัดโพนทอง ซึ่งมีพระครูสกลสมณกิจ เป็นเจ้าอาวาส และวิปัสสนาจารย์ นำพระภิกษุฝั้น อาจาโร ออกธุดงคและเจริญภาวนา ในช่วงชีวิตบรรพชิตของหลวงปู่ ท่านได้ธุดงค์ยังสถานที่ต่างๆ เพื่อเผยแผ่พระธรรม คำสอน จนกระทั่งเป็นที่นับถือศรัทธาของญาติโยมจำนวนมาก และได้รับการได้รับการยกย่องเป็น "อริยสงฆ์" องค์หนึ่ง

ท่านเป็นนักสร้างคน คือสร้างคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ ท่านได้แก้ไขผู้ประพฤติเป็นพาลเกเรเบียดเบียนข่มเหงรังแก สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นโดยการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ ตลอดจนผู้ติดอบายมุขต่าง ๆ ให้บังเกิดความสำนึกตนและละเว้นจากการประพฤติมิชอบเป็นผลสำเร็จมามากต่อมาก เมตตาบารมีธรรมของท่าน กว้างใหญ่ใหญ่ไพศาล แต่ละปีที่ล่วงไป ผู้คนที่หลั่งไหลไปนมัสการท่านเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่มีวันจบสิ้น จนกระทั่งในระยะหลัง ๆ บรรดาสานุศิษย์และนายแพทย์ได้กราบวิงวอนท่านครั้งแล้วครั้งเล่า ให้บรรเทาการรับแขกลงเสียบ้าง ท่านจะได้มีเวลาพักผ่อนมากยิ่งขึ้น เพราะนับวันที่ผ่านไปสังขารของท่านได้ทรุดโทรมลงไปมาก ทั้งยังล้มป่วยลงบ่อย ๆ อีกด้วย แต่ท่านไม่ยอมกระทำตาม ซึ่งทุกคนก็ตระหนักดีในเหตุผลว่าเป็นการขัดต่อเมตตาธรรมที่ท่านยึดถือปฏิบัติมาตลอด

ความตรากตรำในการแผ่บารมีธรรมของท่านนี้เอง เป็นมูลเหตุสำคัญให้ท่านเกิดอาพาธอย่างฉับพลัน เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๑๙ จึงได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสกลนคร แต่อาการของท่านไม่ดีขึ้น จึงได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในกรุงเทพมหานครอีกระยะหนึ่ง โดยอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รักษาตัวอยู่ได้ระยะหนึ่ง พระอาจารย์ฝั้นก็ขอกลับวัด กลับมาคราวนี้ คณะศิษย์ได้ร่วมกันสร้างกุฏิหลังใหม่ให้ท่านพักอาศัย โดยยกพื้นขึ้นมาบนสระหนองแวง ข้างโบสถ์น้ำและทำรั้วกั้นเพื่อมิให้ผู้คนเข้าไปรบกวนท่านด้วย แต่การของท่านก็ยังไม่ดีขึ้น มีแต่ทรงกับทรุดอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งถึงวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๒๐ ได้เกิดอาการโรคแทรกซ้อนขึ้นอย่างรุนแรง และกะทันหัน ท่านจึงต้องทิ้งขันธ์ธาตุของท่านไปด้วยอาการสงบ เมื่อเวลา ๑๙.๕๐ น. ของวันเดียวกัน

ข่าวมรณภาพแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว สานุศิษย์และญาติโยมทั้งหลายต่างหลั่งไหลไปคารวะศพของท่าน แต่ละคนพบกันด้วยสีหน้าอันหม่นหมอง หลายต่อหลายคนบรรยายความรู้สึกในขณะนั้นด้วยน้ำตา เพราะไม่ทราบจะบรรยายถึงความเศร้าเสียใจให้สมบูรณ์ดีไปกว่านั้นได้อย่างไร ณ บัดนี้ พระภิกษุผู้เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้ารูปหนึ่ง พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ รู้แจ้งเห็นจริงในพระสัทธรรม ได้กระทำที่สุดแห่งทุกข์ ละสังขารขันธ์พ้นโลกดับสูญไปแล้ว คงเหลืออยู่ก็แต่ร่องรอยแห่งเมตตาบารมีธรรมอันสูงส่งของท่าน ซึ่งจะจารึกอยู่ในความทรงจำของบรรดาสานุศิษย์ และพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปอย่างไม่มีวันลืมเลือน

ณ วัดป่าอุดมสมพร ซึ่งถือเป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญของท่าน สิริรวมอายุได้ 78 ปี 58 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เสด็จฯ ไปทรงสรงน้ำศพ พระราชทานหีบทองประกอบศพ จนถึงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2521 ได้เสด็จพระราชทานเพลิงศพเป็นการส่วนพระองค์ ในบริเวณที่พระราชทานเพลิงศพของพระอาจารย์ฝั้นได้มีการสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร สูง 27.9 เมตร ลักษณะเป็นเจดีย์ปลายแหลม ฐานกลม ขึ้นรูปด้วยกลีบบัวหุ้มฐานสามชั้น แต่ละกลีบบัวตกแต่งด้วยกระเบื้องเป็นรูปพระอาจารย์ต่างๆ ภายในเจดีย์มีรูปปั้นพระอาจารย์ฝั้นถือไม้เท้าขนาดเท่าองค์จริง มีตู้กระจกบรรจุเครื่องอัฐบริขารของท่าน

 

พระราชปุจฉา กับ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ณ วัดป่าอุดมสมพร ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

พระราชปุจฉา : ทำอย่างไรประเทศชาติประชาชน จะอยู่ดีกินดี มีความสามัคคีปรองดองกัน

หลวงปู่ฝั้น : ให้เข้าหาพระศาสนา เพราะศาสนาสอนให้ละชั่ว กระทำความดี ทำใจให้ผ่องใส

พระราชปุจฉา : คนส่วนมากทำดี คนส่วนน้อยทำชั่ว จะทำให้คนส่วนมากเดือดร้อนไหม ทำอย่างไรจึงจะแก้ไขได้

หลวงปู่ฝั้น : ขอถวายพระพร ทุกวันนี้คนไม่รู้ศาสนาจึงเบียดเบียนกัน ถ้าคนเรานึกถึงตนแล้วก็ไม่เบียดเบียนกัน เพราะต้องการความสุขความเจริญ คนอื่นก็เช่นกัน คนทุกวันนี้เข้าใจว่าศาสนาอยู่กับวัด อยู่ในตู้ ในหีบ ในใบลาน อยู่กับพระพุทธเจ้าประเทศอินเดียโน่น จึงไม่สนใจ บ้านเมืองจึงเดือดร้อนวุ่นวาย มองหน้ากันไม่ได้ ถ้าคนเราถือกันเป็นบิดามารดา เป็นพี่เป็นน้องกันแล้วก็สบาย ไปมาหาสู่กันได้ เพราะใจเราไม่มีเวร เวรก็ไม่มีใจ เราไม่มีกรรม กรรมก็ไม่มี ฉะนั้น ให้มีพรหมวิหารธรรม อย่างมหาบพิตรเสด็จมานี้ ทุกอย่างเรียบร้อยหมด

ข้อมูลโดย ว.วชิรเมธี (W.Vajiramedhi)'s Notes

 

เรื่องปาฏิหารย์

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ การหยั่งรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าของพระอาจารย์ฝั้น ยังเป็นที่จดจำและประทับใจในบรรดาลูกศิษย์ลูกหาและบรรดาพุทธบริษัทจำนวนมากในจังหวัดอุบลราชธานีมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ปีนั้นอยู่ในราวกลางพรรษา พ.ศ. ๒๔๘๗ จังหวัดอุบลราชธานี กลาดเกลื่อนไปด้วยทหารญี่ปุ่นซึ่งเข้าไปตั้งมั่นอยู่ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจะต้องจดจ้องทำลายล้าง โดยส่งเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิดตามจุดยุทธศาสตร์อยู่เสมอ ชาวบ้านร้านถิ่นจึงพากันอพยพหลบภัยออกไปอยู่ตามรอบนอก หรืออำเภอชั้นนอกที่ปลอดจากทหารญี่ปุ่น ในตัวเมืองอุบลฯ จึงเงียบเหงาลงถนัด จะหลงเหลืออยู่ก็เฉพาะผู้ที่มีความจำเป็นไม่อาจโยกย้ายหรืออพยพเท่านั้น ตกกลางคืน คนเหล่านี้จะนอนตาไม่หลับลงง่าย ๆ ต้องคอยหลบภัยทางอากาศกันอยู่เสมอ ปกติเครื่องบินฝ่ายพันธมิตรจะมาทิ้งระเบิดในราวอาทิตย์ละ ๒ หรือ ๓ ครั้ง ถ้าวันไหนเครื่องบินจะล่วงล้ำเข้ามาทิ้งระเบิด พระอาจารย์ฝั้นจะบอกล่วงหน้าให้บรรดาศิษย์ทั้งหลายรู้ก่อนอย่างน้อย ๒ ชั่วโมง เช่นในตอนเย็น ขณะพระเณรซึ่งเป็นศิษย์ กำลังจัดน้ำฉันน้ำใช้ถวายอยู่นั้น ท่านจะเตือนขึ้นว่า ให้ทุกองค์รีบทำกิจให้เสร็จไปโดยเร็ว แล้วเตรียมหลบภัยกันให้ดี คืนนี้เครื่องบินจะมาทิ้งระเบิดอีกแล้ว ภิกษุสามเณรทั้งหลายก็รีบทำตามที่ท่านสั่ง พอตกกลางคืน ก็มีเครื่องบินข้าศึกเข้ามาทิ้งระเบิดจริง ๆ  บางครั้งในตอนกลางวันแท้ ๆ ท่านบอกลูกศิษย์ลูกหาว่า เครื่องบินมาแล้ว รีบทำอะไรให้เสร็จ ๆ แล้วรีบไปหลบภัยกันเสีย ทุกองค์ต่างมองตากันด้วยความงุนงง แต่อีกไม่นานนัก ก็มีเครื่องบินเข้ามาจริง ๆ ชาวบ้านหอบลูกจูงหลานเข้าไปหลบภัยอยู่ในบริเวณวัดเต็มไปหมด พระอาจารย์ฝั้นก็ลงจากกุฏิไปเตือนให้อยู่ในความสงบ และให้ภาวนา “พุทโธ พุทโธ” ไว้โดยทั่วกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่

 

คำสอนของหลวงปู่ฝั้น

"ทุกคนจะต้องเข้ามหายุทธสงครามสักวันหนึ่ง คือการ ต่อสู้กับมัจจุราช เมื่อถึงเวลานั้นแต่ละคนจะต้องสู้เพื่อ ตนเอง และต้องสู้โดยลำพัง ผู้ที่สู้ได้ดีก็จะไปดี คือไปสู่ สุคติ ผู้ที่เพลี่ยงพล้ำก็จะไปร้าย คือไปสู่ทุคติ อาวุธที่ใช้ ต่อสู้มีเพียงสิ่งเดียว คือ "สติ" ซึ่งจะสร้างสมได้ด้วยการ เจริญภาวนาเท่านั้น"

"บุญกุศลนั้นก็ไม่ใช่อื่นไกล ก็ได้แก่ทานบารมี ศีลบารมี ภาวนาบารมีนี้แหละทาน ก็รู้อยู่แล้ว คือการสละ หรือ การละการวางผู้ใดละมาก วางได้มาก ก็เป็นผลานิสงส์มากผู้ใดวางได้น้อย ละได้น้อย ก็มีผลานิสงส์น้อย ละได้น้อย ก็มีผลานิสงส์น้อยมัจฉริยะความตระหนี่เหนียวแน่น นี้หละ คือความโลภ ต้องสละเสีย ให้เป็นผู้บริจาค ก็บริจาคทรัพย์สมบัติ วัตถุทั้งหลายเหล่านั้นหละ ไม่ใช่อื่นไกลแปลว่า ทะนุบำรุงตน เหมือน พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านจะสำเร็จมรรคผล ท่านก็ได้สร้างบารมีมา คือทานบารมีอันนี้ นี่ให้เข้าใจไว้ ทานเป็นเครื่องสะเบียงของเรา เมื่อเราได้ทำไว้พอแล้วเราจะเดินทางไกล เราก็ไม่ต้องกลัวอดกลัวอยาก กลัวทุกข์กลัวยากของเก่าเราได้ทำมาไว้ ถ้าอะไรเราไม่ได้ทำไว้ อยากได้ มันก็ไม่ได้ ถ้าได้ทำไว้แล้ว สร้างไว้แล้ว ไม่อยากได้ มันก็ได้ นี่แหละทานบารมี เหตุนี้ ให้พากันเข้าใจ"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook