ตำนานความเชื่อ "แม่ซื้อ" เทวดาคุ้มครองเด็กทารก

ตำนานความเชื่อ "แม่ซื้อ" เทวดาคุ้มครองเด็กทารก

ตำนานความเชื่อ "แม่ซื้อ" เทวดาคุ้มครองเด็กทารก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตามตำนานความเชื่อดั้งเดิม ของคนไทยโบราณและได้รับการถ่ายทอดมาจนถึงปัจจุบันที่เกี่ยวกับเด็กทารก ก็คงจะหนีไม่พ้นกับคำว่า "แม่ซื้อ" โดย แม่ซื้อ หมายถึง เทวดาหรือผีที่คอยดูแลรักษาเด็กทารก เชื่อว่าเด็กทุกคนที่เกิดมาต้องมีแม่ซื้อประจำวันเกิดคอยดูแล เพื่อปกปักรักษาไม่ให้เด็กเจ็บไข้ได้ป่วย

บ้างก็ว่าแม่ซื้อคือผีที่มีจิตใจริษยา และอาจทำให้เด็กไม่สบายได้ เป็นความเชื่อที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย ตลอดจนพิธีปฏิบัติเกี่ยวกับแม่ซื้อแตกต่างกันออกไปด้วย ทั้งนี้ อิทธิพลจากวัฒนธรรมของดินแดนใกล้เคียงมีผลค่อนข้างมาก และเชื่อว่ามี 7 ตนอยู่ประจำวันได้แก่

วันอาทิตย์ ชื่อว่า “วิจิตรมาวรรณ” มีหัวเป็นสิงห์ มีผิวกายสีแดง
วันจันทร์ ชื่อว่า “วรรณนงคราญ” มีหัวเป็นม้า มีผิวสีขาวนวล
วันอังคาร ชื่อว่า “ยักษบริสุทธิ์ มีหัวเป็นมหิงสา (ควาย)" ผิวกายสีชมพู
วันพุธ ชื่อว่า "สามลทัศ” มีหัวเป็นช้าง ผิวกายสีเขียว
วันพฤหัสบดี ชื่อว่า “กาโลทุกข์” มีหัวเป็นกวาง มีผิวกายสีเหลืองอ่อน
วันศุกร์ ชื่อว่า “ยักษ์นงเยาว์” มีหัวเป็นโค ผิวกายสีฟ้าอ่อน
วันเสาร์ ชื่อว่า “เอกาไลย์” มีหัวเป็นเสือ ผิวกายสีดำ ทุกตนทรงอาภรณ์ (เสื้อผ้า) สีทอง


พิธีรับขวัญทารกในแต่ละภาค


จากความเชื่อที่แตกต่างกัน ทำให้ในแต่ละภูมิภาคมีพิธีเกี่ยวกับแม่ซื้อแตกต่างกันออกไปด้วย โดยในภาคกลาง จะมีการทำพิธีที่ชื่อว่า "พิธีบำบัดพิษแม่ซื้อ" โดยผู้ทำพิธีจะทำบัตรขึ้นมาใบหนึ่ง ในบัตรจะใส่ของกินต่างๆ เช่น ข้าว น้ำ กุ้งพล่า ปลา ฯลฯ และตุ๊กตาดินรูปผู้หญิงนั่งพับเพียบประคองเด็กอยู่ในตัก เมื่อเจ้าพิธีกล่าวคำในพิธีจบก็จะหักหัวตุ๊กตาใหัหลุดออก เสมือนให้แม่ซื้อเอาไปเล่นแทนได้ เชื่อกันว่า ทารกจะไม่เจ็บป่วยจากการรบกวนของแม่ซื้ออีก

ส่วนของภาคใต้ เด็กทารกเกิดใหม่จะมีพิธีชื่อว่า "ทำแม่ซื้อ" หรือ "เสียแม่ซื้อ" โดยเชื่อว่าพิธีดังกล่าวเป็นสิริมงคลแก่ตัวเด็ก และจะได้รับการดูแลรักษาด้วยดีจากแม่ซื้อ การทำพิธีมักจะทำในวันเกิดของเด็ก หากเป็นวันข้างขึ้นก็ให้ใช้วันคี่ ข้างแรมให้ใช้วันคู่

สำหรับภาคอีสาน จะมีพิธีรับขวัญเด็กอ่อน ด้วยการนำเด็กทารกมาใส่กระด้งร่อน แล้วกล่าวว่า “สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใคร ใครเอาไปเน้อ" ฝ่ายพ่อแม่ก็จะรับว่าเป็นลูกตน คนทำพิธีก็จะส่งลูกให้ แม่ซื้อเดิมก็จะรู้ว่าทารกนั้นเป็นลูกคนแล้ว และจะไม่มารบกวนอีก

อย่างไรก็ดี ประเพณีดังกล่าวไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นประเพณี หรือวัฒนธรรมของคนไทยทั้งประเทศ เนื่องจากบางท้องที่อาจไม่มีความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีแม่ซื้อเลยก็เป็นได้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook