ศีล 5 มีอะไรบ้าง ทำไมจึงต้องรักษาศีล 5 ประโยชน์ของการรักษาศีล

ศีล 5 มีอะไรบ้าง ทำไมจึงต้องรักษาศีล 5 ประโยชน์ของการรักษาศีล

ศีล 5 มีอะไรบ้าง ทำไมจึงต้องรักษาศีล 5 ประโยชน์ของการรักษาศีล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศีล 5 นับว่าเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญสำหรับผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ไม่ว่าจะในบ้านเรา หรือแม้แต่ประเทศที่มีการนับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ โดยที่ศีล 5 นั้นถือเป็นหลักปฏิบัติขั้นพื้นฐานที่สุด ตามมาด้วย ศีล 8 ศีล 10 ไปจนถึง ศีล 227 ข้อสำหรับผู้ที่ถือครองสมณะเป็นพระ

ก่อนที่เราจะไปอ่านรายละเอียดของศีลทั้ง 5 ข้อ เรายังมีเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการกำเนิดหลักปฏิบัติดังกล่าวตั้งแต่เมื่อครั้งพุทธกาล ที่ถือว่าหลักปฏิบัตินี้มีความเชื่อมโยงกัน และครอบคลุมการดำเนินชีวิตของมนุษย์อย่างครบถ้วน

ประวัติของศีล 5

จากหลักฐานที่ถูกค้นพบด้านประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนานั้น พบว่า “ศีล” เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยพระเจ้าสมสติราช ซึ่งมิอาจระบุช่วงปีที่เกิดได้เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากแล้ว โดยในครั้งนั้นเป็นการเกิดขึ้นของศีลข้อที่ 2 คือ ห้ามลักทรัพย์ จากนั้นศีลข้อที่ 3 จึงเกิดตามมา คือ ห้ามประพฤติผิดในกาม ซึ่งเมื่อเกิดการประพฤติผิดในศีลทั้ง 2 ข้อแล้วจึงเกิดเป็นการโกหก หลอกลวง ไม่ยอมรับ ไม่ยอมสารภาพผิดต่อขึ้นมา จึงเกิดเป็นศีลข้อที่ 4 คือ ห้ามพูดเท็จ และเมื่อเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงมากขึ้นถึงกับมีการฆ่าแกงกัน จึงเป็นที่มาของศีลข้อที่ 1 คือ ห้ามฆ่าสัตว์

ส่วนศีลข้อที่ 5 คือ ห้ามดื่มสุรา ตามตำนานเล่าว่าเป็นการประพฤติที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ ได้มีคนเดินทางไปพบน้ำขังบริเวณตามง่ามไม้ เมื่อสังเกตไปยังนก นกได้ดื่มน้ำนั้นเข้าไปแล้วเกิดอาการเมา พยายามจะตะเกียกตะกายบินขึ้นบนฟ้าไปให้ได้ คนที่พบจึงทดลองดื่มดูรู้สึกว่าสนุกดี จึงได้น้ำที่พบนั้นไปศึกษาส่วนประกอบ ต่อมาเมื่อศีลทั้ง 5 ข้อก็ได้กลายมาเป็นบทบัญญัติของบ้านเมือง และของเหล่าบัณฑิต

ในบางยุค บางสมัยที่โลกนั้นได้เจริญขึ้นในด้านจิตใจ ศีล 5 ก็กลายเป็นธรรมะ ที่เรียกว่า กุรุธรรม หมายถึง ธรรมะของชาวแคว้นกุรุ ที่อยู่ในชมพูทวีปได้ยึดถือปฏิบัติกัน ศีล 5ศีล 5

เมื่อเวลาผ่านไปได้สักระยะ พระพุทธศาสนาได้อุบัติขึ้น พระพุทธเจ้าจึงทรงนำบทบัญญัติเหล่านี้มาเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติของพุทธบริษัท โดยเริ่มต้นจากอุบาสก อุบาสิกา นับว่าศีล 5 นั้นเป็นเรื่อง่ายที่ยากต่อการปฏิบัติในหมู่ชาวไทย อาจเป็นเพราะว่าคนไทยนั้นมีความคุ้นเคยกับการปฏิบัติในทางตรงกันข้ามกับศีล 5 ในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่ทำต่อเนื่องมาจนเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต ทำให้เมื่อมายึดถือศีล 5 ก็ไม่สามารถทำได้ทุกข้อ หรืออาจทำไม่ได้เลย

ความหมายของศีล

เมื่อเรารู้ความเป็นมาของหลักปฏิบัติที่เรียกว่า "ศีล 5" แล้ว ในความเป็นจริง เรารู้กันบ้างรึเปล่าว่า “ศีล” นั้น มีความหมายว่าอย่างไรกันบ้าง

  • ศีล คือ “เจตนา” ความตั้งใจ ที่จะงดเว้นจากกายทุจริต 3 (ไม่ฆ่าสัตว์, ไม่ลักทรัพย์, ไม่ประพฤติผิดในกาม) และวจีทุจริต 4 (ไม่พูดเท็จ, ไม่พูดคำหยาบ, ไม่พูดส่อเสียด, ไม่พูดเพ้อเจ้อ)
  • ศีล คือ “เจตสิก” หมายถึงการงดเว้นจากมโนทุจริต 3 (ความโลภอยากได้ของผู้อื่น, มีจิตคิดพยาบาท, มีความเห็นผิด)
  • ศีล คือ ความสำรวมระวัง ปิดกั้นความชั่ว
  • ศีล คือ การไม่ล่วงละเมิดข้อห้าม

ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วทำให้ศีล 5 นั้นมีความหมายที่เกี่ยวข้องกับมนุษยธรรม อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่มนุษย์นั้นบัญญัติขึ้นเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เป็นการกำหนดหลักต่างๆ ขึ้นจากสามัญสำนึกที่รู้สึกตัวว่า เมื่อเรามีความรักตัวเอง ต้องการความสุข รวมถึงความปลอดภัยในชีวิต คนอื่นๆ ก็ย่อมต้องรู้สึกและมีความต้องการเช่นเดียวกับเรา เหตุนี้เองถึงแม้ว่าโลกใบนี้จะไม่มีพุทธศาสนา หรือแม้แต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ศีล 5 ก็มีอยู่ในการดำเนินชีวิตของเราอยู่แล้ว ฉะนั้น มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ มีเหตุมีผล รู้จักยับยั้งชั่งใจ แต่สัตว์เดียรัจฉานไม่มีสิ่งเหล่านี้ จึงอาจเห็นได้ว่า เมื่อใดที่มนุษย์มีศีล 5 อย่างครบถ้วน ความเป็นมนุษย์จึงสมบูรณ์ กายเป็นปกติ วาจาก็เป็นปกติ เมื่อใดที่มนุษย์ขาดศีล 5 ไป ความเป็นมนุษย์ก็ลดลง 

รักษาศีล 5รักษาศีล 5

ศีล 5 มีอะไรบ้าง

เห็นได้ว่า ศีล 5 นั้นเป็นเครื่องบ่งชี้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยสามารถแบ่งการประพฤติปฏิบัติได้เป็น 5 ข้อที่สามารถจำแนกความเป็นมนุษย์และสัตว์ได้อย่างชัดเจนได้ดังต่อไปนี้

  1. ตั้งใจงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ : ซึ่งโดยปกติของมนุษย์แล้วเราจะไม่ฆ่าแกงกันเอง นั่นเป็นสิ่งแรกที่มนุษย์มีความแตกต่างจากสัตว์ อาทิ เสือ หรือสิงโต ที่เวลาหิวก็จะไล่ล่าสัตว์อื่นเพื่อนำมาเป็นอาหารทันที นั่นจึงทำให้เราสามารถแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างคนกับสัตว์ได้อย่างชัดเจน

  2. ตั้งใจงดเว้นจากการลักขโมย : โดยปกติของมนุษย์แล้วจะไม่คิดขโมย หรือลักทรัพย์สินของใคร ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นรูปธรรมจับต้องได้ หรือสิ่งที่เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ เพราะมนุษย์มีความรอบรู้ในเรื่องของ กรรมสิทธิ์ ว่านั่นของเรา ว่านี่ของเรา แต่กับสัตว์เดียรัจฉานนั้นไม่รู้ ยกตัวอย่าง เวลาที่สุนัขกำลังเห็นแมวกินปลาอยู่ ถ้ามันมีความคิดที่อยากได้มันก็จะเข้าไปแย่งเลยทันที ฉะนั้น ถ้าใครลักขโมย หรือจี้ปล้นทรัพย์สินของคนอื่นก็แสดงว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขาได้สูญเสียไปแล้ว

  3. ตั้งใจงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม : มนุษย์เป็นผู้ที่รู้จักควบคุมความต้องการของตัวเอง รู้ถูกผิด รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร ซึ่งแตกต่างจากสัตว์ อาทิ เมื่อสุนัขเพศผู้ถึงคราวที่ฮอร์โมนเพศทำงาน มันจะเข้าไปกัดเพื่อแย่งตัวเมียจากตัวผู้ตัวอื่น แต่มนุษย์ปกติกลับไม่ประพฤติเช่นนั้น

  4. ตั้งใจงดเว้นจากการพูดเท็จ พูดคำหยาบ คำส่อเสียด เพ้อเจ้อ : โดยธรรมชาติของมนุษย์แล้วจะไม่หลอกหลวง และเบียดเบียนซึ่งกันและกันด้วยวาจา หรือคำพูด ซึ่งแตกต่างจากสัตว์ อาทิ สุนัขที่อยู่ในบ้าน เมื่อมีสุนัขตัวอื่น หรือมนุษย์คนอื่นเดินผ่านมา มันจะส่งเสียงเห่าในทันที แต่มนุษย์เราโดยปกติไม่ได้เป็นเช่นนั้น ที่อยู่ดีๆ เราจะด่า หรือว่าใครโดยไม่มีเหตุอันสมควร

  5. ตั้งใจงดเว้นจากดื่มสุรา : ตามปกติ สัตว์ใหญ่มักมีพละกำลังมากกว่ามนุษย์ แต่มันบังคับทิศทางการเคลื่อนที่ไม่ค่อยได้ เพราะไม่มีสติสำหรับควบคุม ดังนั้น สัตว์จึงไม่สามารถเป็นกำลังกายที่เกิดเป็นคุณงามความดี หรือการช่วยเหลือผู้อื่นได้ ผิดกันกับมนุษย์ มนุษย์มีสติสัมปชัญญะที่จะควบคุมการกระทำของตัวเอง ทำให้สามารถนำพละกำลัง หรือกำลังกายที่เรามีเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น หรือกระทำคุณงามความดีได้อย่างมากมาย แต่เมื่อใดที่มนุษย์ดื่มสุรา หรือของมึนเมาเข้าไป ก็จะทำให้ตนเองนั้นขาดสติ ขาดความยับยั้งชั่งใจจนก่อให้เกิดการประพฤติในสิ่งที่เลวร้ายได้ ซึ่งศีลข้อที่ 5 นี้เป็นข้อที่สำคัญที่สุด เพราะคนที่ขาดสติสามารถกระทำความชั่ว รวมไปถึงการประพฤติผิดในศีลข้ออื่นๆ ได้อีกด้วย

ทำไมจึงต้องรักษาศีล 5

  1. ข้อที่ 1: สิ่งมีชีวิต เป็นสิ่งที่มีคุณค่า เราไม่ควรเบียดเบียน ข่มเหง หรือทำลายคุณค่าแห่งความเป็นอยู่ของเขาให้ตกไป

  2. ข้อที่ 2: สิ่งของของใคร ใครก็รัก ใครก็สงวน ไม่ควรทำลาย ฉกลัก ปล้น จี้ อันจะเป็นการทำลายทรัพย์สมบัติและทำลายซึ่งจิตใจกัน

  3. ข้อที่ 3: ลูก หลาน สามี ภรรยาใคร ใครก็รัก ใครก็สงวนอย่างยิ่ง ไม่ปรารถนาให้ใครมาอาจเอื้อม ล่วงเกิน อันจะเป็นการทำลายซึ่งจิตใจของผู้อื่นอย่างหนัก อีกทั้งยังเป็นบาปแบบไม่มีประมาณ

  4. ข้อที่ 4: การมุสา หรือการโกหกพกลม ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำลายความเชื่อถือของผู้อื่นให้ขาดสะบั้นลงอย่างไม่มีดี ถึงแม้เดรัจฉานก็ไม่พอใจในคำหลอกลวง จึงไม่สมควรโกหก ทำให้ผู้อื่นเสียหาย

  5. ข้อที่ 5: สุรา ยาเสพติด เป็นของมึนเมาและให้โทษ หากดื่มเข้าไปบ่อยๆ ย่อมทำให้คนดีกกลายเป็นคนบ้าได้ อีกทั้งของมึนเมาเหล่านี้จะเข้าไปลดคุณค่าของคนลงโดยลำดับ สำหรับผู้ที่ต้องการเป็นคนดี มีสติปกครองตัวอย่างมนุษย์จึงไม่ควรดื่มสุรา อันนับว่าเป็นเครื่องทำลายสุขภาพทางร่างกายและจิตใจอย่างมาก หากเสพเข้าไปก็ถือเป็นการทำลายตัวเอง และผู้อื่นได้ในขณะเดียวกัน

ประโยชน์ของการรักษาศีล 5

  1. ทำให้อายุยืน ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน
  2. ทรัพย์สมบัติที่อยู่ในความปกครองจะมีความปลอดภัยจากโจรผู้ร้ายที่มาราวี จ้องจะเบียดเบียนทำลาย
  3. ระหว่างลูก หลาน สามีและภรรยาจะอยู่รวมกันด้วยความผาสุก ไม่มีผู้คอยล่วงล้ำกล้ำกราย ต่างคอรงกันอยู่ด้วยความเป็นสุข
  4. เมื่อพูดอะไรจะมีแต่ผู้เคารพเชื่อถือ คำพูดมีเสน่ห์ เป็นที่จับใจไพเราะด้วยสัตย์ ด้วยศีล
  5. จะเป็นผู้ที่มีสติปัญญาดีและเฉลียวฉลาด ไม่หลงหน้าหลงหลัง จับโน่นชนนี่จนเหมือนคนบ้าคนบอ หาสติไม่ได้ ผู้มีศีล จะเป็นผู้ที่ปลูกและส่งเสริมสุขบนหัวใจคนและสัตว์ทั่วโลกให้มีแต่ความอบอุ่น ไม่เป็นที่ระแวงสงสัย ผู้ไม่มีศีล จะเป็นผู้ที่ทำลายหัวใจคนและสัตว์ให้ได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อนอยู่ทั่วทุกหย่อมหญ้า

ก่อนสวดมนต์บทอื่นๆ หรือนั่งสมาธิทุกครั้งเราควรจะสวดอาราธนาศีล 5 สมาทานศีล 5 ด้วยเพราะ ศีล 5 ข้อนี้นั้นเป็นพื้นฐานที่ดีที่ควรมีของมนุษย์ สวดให้เราระลึกถึงอยู่ทุกวันว่าอะไรที่ไม่ควรทำ ไม่ใช่ว่าเราสวดมนต์ทุกวัน แต่ไม่ปฎิบัติตนให้อยู่ภายในศีล 5 ก็จะไม่มีประโยชน์อันใดเลย          

แนะนำบทสวดมนต์ไหว้พระที่ควรสวด ควรจะมีบทสวดเหล่านี้เป็นพื้นฐานก่อนที่จะสวดบทอื่นๆต่อไป         

  1. คำบูชาพระ         
  2. คำนมัสการพระรัตนตรัย         
  3. คำนมัสการพระพุทธเจ้า         
  4. คำอาราธนา ศีล 5         
  5. คำนมัสการไตรสรณคมน์         
  6. คำสมาทาน ศีล 5

คำอาราธนาศีล 5         

(ถ้าคนเดียวเปลี่ยนจากคำว่า "มะยัง" เป็น "อะหัง" และ "ยาจามะ" เป็น "ยาจามิ")         

มะยังภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะสะหะ ปัญจะศีลานิยาจามะ         
ทุติยัมปิ มะยังภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะสะหะ ปัญจะศีลานิยาจามะ         
ตะติยัมปิ มะยังภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะสะหะ ปัญจะศีลานิยาจามะ           

คำสมาทานศีล 5

ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทังสะมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วยตนเองและไม่ใช่ให้ผู้อื่นฆ่า)         
อะทินนาทานา เวระมณี สิกขาปะทังสะมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการลัก, ฉ้อ ของผู้อื่นด้วยตนเอง และไม่ใช่ให้ผู้อื่นลัก ฉ้อ)         
กาเมสุมิจฉาจารา เวระมณี สิกขาปะทังสะมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม)         
มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทังสะมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการพูดเท็จ คำไม่เป็นจริง และคำล่อลวง อำพรางผู้อื่น)         
สุราเมระยะมัจฉะปะมาทะถานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการดื่มสุรา เมรัย เครื่องดองของทำใจให้คลั่งไคล้ต่าง ๆ )

เห็นอย่างนี้แล้ว การจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่เราต้องปฏิบัติตามหลักต่างๆ ของ ศีล 5 อย่างครบถ้วน เคร่งครัด และสม่ำเสมอ แน่นอนว่ายังไม่มีใครเป็นมนุษย์ที่ดีพร้อมไป 100% ไม่ต้องรีบร้อน ค่อยเริ่ม ค่อยๆ ไป เดี๋ยวทุกอย่างก็จะลงตัวเอง

ข้อมูลเพิ่มเติม DMC.tv, Gotoknow.org และ dhammasavana.or.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook