คุณป่วยเป็นโรคติดเซ็กซ์ หรือไม่

คุณป่วยเป็นโรคติดเซ็กซ์ หรือไม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คอลัมน์ The Sex File
โดย นพ. พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์


คุณเคยคิดบ้างไหมว่าคุณป่วยเป็น...โรคติดเซ็กซ์??? ลองตอบคำถามต่อไปนี้อย่างที่เป็นจริงดูซิว่า...คำตอบของคุณเป็นอย่างไร

แล้วค่อยดูคำเฉลยว่า...คุณเป็นโรคติดเซ็กซ์หรือเปล่า!!

1. คุณเคยมีอาการซึมเศร้าและละอายในพฤติกรรมทางเพศของตนเอง

2. คุณเคยรู้สึกว่ามีแรงขับดันทางเพศ หรือมีกิจกรรมทางเพศที่ไม่สามารถควบคุมได้ แม้ว่าเคยพยายามหยุดมันหลายครั้งแล้วแต่ก็ทำไม่ได้

3. คุณไม่สามารถหักห้ามใจ เมื่อพบกับสิ่งเร้าทางเพศ

4. คุณเคยมีกิจกรรมทางเพศเพื่อทดแทนความไม่สบายใจต่างๆ เช่น ความเครียด โกรธ อาย เสียใจ ฯลฯ เพราะว่าเมื่อคุณได้มีกิจกรรมทางเพศแล้วคุณจะลืมทุกสิ่งทุกอย่าง

5. คุณใช้เวลาอย่างไม่เหมาะสมในกิจกรรมทางเพศ


6. คุณเคยถึงกับละทิ้งครอบครัว เพื่อนฝูง เพื่อดำเนินกิจกรรมทางเพศที่ตนเองปรารถนา

7. คุณทำกิจกรรมทางเพศ จนละทิ้งงานประจำของตัวเอง

8. คุณเคยมีกิจกรรมทางเพศที่คิดว่าไม่ถูกต้องหรือน่าละอาย ไม่สามารถพูดให้ใครฟังได้

9. คุณมีความกลัวเกี่ยวกับเพศตรงข้ามอย่างมาก จนต้องอยู่กับจินตนาการของตัวเอง หรือทำการช่วยตัวเองเมื่อเกิดความต้องการตามธรรมชาติเป็นประจำ

10. คุณมีความต้องการดูภาพโป๊ ภาพยนตร์ หรืออินเทอร์เน็ต มากจนไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ตามปกติได้

11. คุณมีความคิดหมกมุ่นเกี่ยวกับเรื่องเพศและอัตราความหมกมุ่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

12. กิจกรรมทางเพศเกิดขึ้นได้รวดเร็วจนบดบังความรักความสัมพันธ์ตามปกติ

13. ลักษณะของการมีเพศสัมพันธ์ของคุณส่วนใหญ่เป็นในรูปแบบ...รักชั่วค่ำคืน

14. คุณเคยถูกจับกุมหรือถูกสงสัยเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศที่ผิดปกติ

15. คุณมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัยทั้งๆ ที่มีความรู้ เพราะหักห้ามใจไม่อยู่


16. คุณใช้เงินจำนวนมากเพื่อมีกิจกรรมทางเพศ โดยไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของตน

17. คุณคิดว่าชีวิตไม่มีค่าถ้าหากขาดเพศสัมพันธ์


เชื่อไหมว่า ถ้าคุณตอบว่า ใช่ ข้อใดข้อหนึ่งใน 14 ข้อดังกล่าวนั้นก็แสดงว่า คุณเริ่มเข้าสู่โรคติดเซ็กซ์แล้ว???

เพราะเซ็กซ์นั้นเป็นความต้องการตามธรรมชาติของมนุษยชาติ!!
เซ็กซ์เกิดมาคู่กับโลกใบนี้...เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการเจริญพันธุ์ตามธรรมชาติ ถ้าปราศจากเซ็กซ์แล้วมนุษยชาติของเราก็คงจะต้องสูญสิ้นไปนานแล้ว

และเซ็กซ์...เป็นความสุขสมที่จับต้องได้
เซ็กซ์อาจจะเป็นการบอกรักที่เรียบง่าย เป็นภาษากายที่บอกว่าเรารักกัน เป็นสัมผัสรักที่จับต้องได้ และเป็นสีสันแห่งความรัก

เซ็กซ์ที่สุขสมจะทำให้สุขภาพดี และมีชีวิตยืนยาว
เพราะเซ็กซ์ที่สุขสมนั้นจะทำให้เกิดการหลั่งสารแห่งความสุขออกมาที่เรียกว่า “เอ็นดอร์ฟิน” และเมื่อสารแห่งความสุขนี้หลั่งออกมาแล้วก็จะทำให้เกิดการผ่อนคลาย หายเครียด นอนหลับฝันดี ทำให้ร่างกายเกิดการทำงานของระบบต่างๆ เป็นปกติ ระบบภูมิคุ้มกันทำงานดี เป็นผลให้เจ็บป่วยน้อยลง ขณะเดียวกันเมื่อนอนหลับสนิทฝันดีก็จะมีการผลิตฮอร์โมนเพศออกมาในระดับที่เป็นปกติ เป็นผลทำให้ร่างกายสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

เซ็กซ์จึงเป็นทั้งความสุขสม...และเสริมสุขภาพด้วย
นั่นเป็นเซ็กซ์ที่เกิดขึ้นในปริมาณที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงคุณภาพมากกว่าปริมาณ รวมทั้งสามารถที่จะควบคุมได้
คนจึงต้องควบคุมเซ็กซ์...ไม่ใช่ให้เซ็กซ์มาบงการคน
การมีความสุขสมในเรื่องเซ็กซ์เป็นเรื่องดี...
...แต่การติดเซ็กซ์เป็นโรค!!!

และแพทย์จะวินิจฉัยว่าคุณเป็นโรคติดเซ็กซ์ก็ต่อเมื่อ...
• คุณไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมนี้ได้
• เกิดผลเสียต่อการมีพฤติกรรมนี้ ได้แก่ ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์กระทำการอย่างผิดกฎหมาย มีปัญหาครอบครัวตามมา รวมทั้งทำให้เกิดบุคลิกภาพที่ไม่เหมาะสม ซึ่งไม่สามารถที่จะควบคุมได้
• แม้ว่าคุณจะพยายามที่จะหยุดพฤติกรรมดังกล่าวแล้วหลายต่อหลายครั้งแต่ก็ไม่สามารถที่จะหยุดได้...เพราะคุณติดอกติดใจขาดไม่ได้
• อาการเริ่มต้นจากการมีจินตนาการคิดคำนึง และพัฒนาความต้องการเพิ่มขึ้นจนไม่สามารถควบคุมได้
• อาการของความต้องการที่จะมีเซ็กซ์เพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลา
• คุณมีอาการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างชัดเจน เพื่อให้ได้รับการมีเพศสัมพันธ์ หรือเมื่อได้รับการมีเพศสัมพันธ์ เช่น โกรธ ทำร้ายตัวเอง ซึมเศร้า เสียใจ
• คุณใช้เวลาอย่างไม่เหมาะสมกับจินตนาการหรือการประกอบกิจกรรมทางเพศที่ต้องการอยากทำ
• และคุณติดพฤติกรรมดังกล่าวจนเกิดผลเสียหายต่ออาชีพ และสถานภาพทางสังคม


คำถามจึงมีอยู่ว่า...ถ้าคุณยังพอมีสติอยู่และคิดว่าโรคติดเซ็กซ์กำลังเกิดขึ้นกับคุณแล้ว มีเคล็ดลับอะไรบ้างที่จะทำให้คุณหลุดออกจากวงจรอุบาทว์นี้ได้ โดยไม่มีผลต่อคุณภาพชีวิตและสถานภาพในสังคมของคุณ
1. พยายามเก็บความลับไว้กับตัวเอง ถ้าการกระทำพฤติกรรมของคุณยังไม่ได้ทำให้ใครเสียหาย เพราะเมื่อเวลาผ่านไปอาการต่างๆ อาจจะดีขึ้น

2. ถ้าคุณมีคนรักคู่ครอง พยายามพูดจาให้พวกเขาเข้าใจและตอบสนองคุณ บางสิ่งบางอย่างที่พอจะทดแทนกันได้ บอกให้พวกเขาพยายามให้กำลังใจคุณอย่าซ้ำเติม เพราะจะทำให้คุณเครียดน้อยลง และมีเวลาในการคิดหาวิธีทางออกที่ดีงามเพื่อจัดการกับปัญหาด้วยกัน

3. ทำตัวให้ไม่มีเวลาว่าง พยายามมีความสุขกับการงานที่ชื่นชอบ หางานอดิเรกที่อยากทำ มีการสังสรรค์ในหมู่เพื่อนที่รู้ใจ พยายามหากิจกรรมสันทนาการในรูปแบบของการออกกำลังกาย เล่นกีฬา เล่นดนตรี ฟังเพลง ท่องเที่ยวทัศนาจร ฯ,ฯ

4. หาวิธีการผ่อนคลายและสมาธิ จะเข้าวัดก็ได้ไม่ว่ากัน

5. ปรึกษาแพทย์ประเภทนักจิตบำบัดถ้าคุณคิดว่าไม่สามารถจัดการได้ด้วยตนเอง
อาจจะยาก...หรืออาจจะง่าย ก็ยากที่จะบอกได้แต่ให้กำลังใจว่า...ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook